พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุออนไลน์
“...ด้วยความมุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความภาคภูมิใจกับการเคียงคู่ รู้ค่า เกษตรกรไทยมากกว่า ๔ ทศวรรษ ของ ธ.ก.ส. บนรากฐานจากคำสอนที่หล่อหลอมโดยอาจารย์จำเนียร สาระนาค ที่หวังให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพ้นจากความยากจน ผ่านยุคสมัยของการพัฒนาสินเชื่อจนครบวงจร เข้าถึงเกษตรกรอย่างทั่วถึงและให้คำแนะนำกำกับอย่างมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์เรื่องราวที่ร้อยเรียง ความทันสมัยในการนำเสนอและคุณค่าของนิทรรศการที่จัดแสดงเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนความรู้และได้รับความเพลิดเพลินในการเข้าชม...”
หอศิลป
จัดแสดงผลงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับธนาคาร เช่นภาพจิตรกรรมจากปลายพู่กันของศิลปินระดับแถวหน้าของประเทศไทย ที่แต่ละท่านต่างรังสรรค์ผลงานได้อย่างงดงามและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จัดแสดงสลากออมทรัพย์ทวีสินตั้งแต่ชุดแรกจนถึงปัจจุบัน โดยรูปแบบของสลากในช่วงแรกจะเป็นภาพเกี่ยวกับเกษตรกรรมและวิถีชีวิตในไทย นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้นำภาพผลงานของศิลปินชั้นแนวหน้าของเมืองไทย อาทิ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง และอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร รองศาสตราจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ มาจัดพิมพ์บนสลากและมีส่วนจัดแสดงวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคน ธ.ก.ส. ได้แก่พระนิรันตรายซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำสำนักงาน ธ.ก.ส. พระพุทธเกษตร์รักษาเป็นพระพุทธรูปประจำสำนักงานใหญ่ อาคารบางเขน
ห้องที่ระลึกแห่งความทรงจำ
ย้อนเวลากับภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์ สำนักงานต่างๆ และของชำร่วยหลากหลายรูปแบบ สะท้อนถึงวันวานที่ผ่านมาจากปีแรกจวบจนถึงปัจจุบันที่ทุกชิ้นคือความทรงจำอันทรงคุณค่า ตลอดจนการจำลองบรรยากาศสาขาในยุคแรกเริ่ม อันแสดงให้เห็นถึงสภาพการทำงานของ ธ.ก.ส. ที่แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ
หอเกียรติยศ
เรียนรู้ เรื่องราวของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งด้านองค์กร ด้านพนักงานและด้านลูกค้า โดยส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างและมีโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนให้ลูกค้าดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความพอเพียง จากการปฏิบัติอย่างจริงจังส่งผลให้ ธ.ก.ส. ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ประเภทองค์กรภาครัฐส่วนกลาง จากการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 และมีส่วนจัดแสดงเรื่องราวของเกษตรกรลูกค้าดีเด่นของ ธ.ก.ส. ที่เป็นผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองจนประสบความสำเร็จ
ห้องก้าวย่างแห่ง
พัฒนาการ ธ.ก.ส.
นับตั้งแต่ปีแรกแห่งการก่อตั้ง ธ.ก.ส. จวบจนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องเตือนความจำให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงและเรียนรู้ นอกจากเหตุการณ์ใน ธ.ก.ส. แล้วยังมีเหตุการณ์ภายนอกที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ส่งผลต่อพัฒนาการของ ธ.ก.ส. อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จึงรวบรวมเหตุการณ์สำคัญเหล่านั้นมาเสนอคู่กับเหตุการณ์ภายใน ธ.ก.ส. เพื่อสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยและบทบาท ธ.ก.ส. ในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในกาลานุกรม ธ.ก.ส. ในแต่ละทศวรรษเพื่อเข้าใจ ธ.ก.ส. ได้อย่างลึกซึ้งมาก
ห้องความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ
ภาพยนตร์ 4 มิติ ที่บอกเล่าเรื่องราวของสินเชื่อหนุ่มจากแดนใต้ผู้ต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในดินแดนแห่งดอกคูณเสียงแคน ความรัก ความผูกพัน ระหว่างเขาและชาวบ้านค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งความเป็นพี่น้องตามแบบฉบับของคน ธ.ก.ส. ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เป็นจุดพลิกผันที่สุดในชีวิตของชายหนุ่ม
ห้องรากฐาน ธ.ก.ส.
นำเสนอเรื่องราวและประวัติอาจารย์จำเนียร สาระนาค
ผู้จัดการคนแรกของ ธ.ก.ส. ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาสินเชื่อเกษตรกรไทย นอกจากบทบาท
ในเรื่องของการทำงานอย่างมุ่งมั่นแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สร้างและวางรากฐานขององค์กร ธ.ก.ส.มั่นคงและยั่งยืนมาจวบจนทุกวันนี้ได้เกิดจากการบุกเบิกของท่านผู้ทุ่มเทเสียสละเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ด้วยนวัตกรรมสินเชื่อแบบกำกับแนะนำมาใช้
(Supervised credit) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมหรือหัวใจหลักของ ธ.ก.ส. และเป็นความสามารถพิเศษ (Core
Competency) ขององค์กรในปัจจุบัน
ห้องกำเนิด ธ.ก.ส.
นำเสนอประวัติความเป็นมาการก่อตั้ง ธ.ก.ส. ผ่านวีดิทัศน์ โดยเล่าถึงภาวะที่เกษตรกรไทยต้องพบเจออุปสรรคนานัปการ ทั้งการขาดแคลนเงินทุนทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงหนุนให้รัฐบาลได้ก่อตั้ง ธ.ก.ส. ขึ้นและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 โดยมีพันธกิจในการอำนวยสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับทำการผลิตพืชผลทางการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเป็นปณิธานที่ ธ.ก.ส. ยึดมั่นมาโดยตลอด
โถงต้อนรับ
จุดบริการข้อมูลและลงทะเบียน พร้อมรับชมวีดิทัศน์แนะนำความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์และจัดแสดงโมเดลจำลองวิถีเกษตรไทย 5 ภาค - นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีเกษตรกรรมไทยดั้งเดิม ใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทยคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ แต่ละภูมิภาคมีการทำเกษตรที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและทรัพยากร ในภาคนั้นๆ ตลอดจนภาษา สังคมและวัฒนธรรม แต่ละภาคก็มีความแตกต่างกันไป สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติงานของพนักงาน ธ.ก.ส. ที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับลูกค้าได้
แนะนำพิพิธภัณฑ์ ธ.ก.ส.
พิพิธภัณฑ์ ธ.ก.ส. เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการ การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา เนื่องด้วย ธ.ก.ส. เป็นธนาคารเฉพาะกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั้งประเทศ จุดเด่นในการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการสื่อถึงบรรยากาศของภาคการเกษตรของไทย ทำให้การออกแบบบริเวณโถงต้อนรับ รวมถึงผนังเป็นโทนสีเขียว ประกอบกับการตกแต่งผนังด้านหลังด้วยรูปทรงเมล็ดข้าวสื่อถึงธัญพืชที่หล่อเลี้ยงสังคมไทยให้อยู่ดีมีสุขมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
เปิดบริการ
วันจันทร์ - ศุกร์
เวลา 09:00 - 15:00 น.
ยกเว้นวันหยุดราชการ
และวันหยุดของธนาคาร
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ ธ.ก.ส.ให้บริการศึกษาดูงาน
ทุกวันจันทร์-ศุกร์
โดยแบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ 09.00-11.00 น. และ 13.00-15.00 น.
(ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร)
* สามารถรองรับผู้เข้าชมได้จำนวนรอบละ ไม่เกิน 30 คน ในกรณีมีผู้เข้าชมตั้งแต่ 60 คนขึ้นไป โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่หอสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุ ธ.ก.ส.
โทร. 02-558-6555 ต่อ 8367 และ 8369 E-mail : Museum.baac@gmail.comหอจดหมายเหตุ.... คลังข้อมูลแห่งประวัติและ พัฒนาการของ ธ.ก.ส. เปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำ ค่า สะท้อนให้รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต และจิตวิญญานของ องค์กร ก่อให้เกิดความรักความผูกพัน และความภาคภูมิใจใน ความเป็น ธ.ก.ส. ทั้งยังย้ำเตือนให้เราก้าวเดินเคียงบ่าเคียง ไหล่ไปกับเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างรากฐานอันมั่งคงและยั่ง ยืนแก่สังคมไทย
หมายเหตุ : การขอทำสำเนาเอกสารต่างๆ ในหอจดหมายเหตุ ธ.ก.ส. นี้จะใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น หากต้องการจะนำไปเผยแพร่ด้วยวิธีการใดๆ ผู้ต้องการสำเนาจะต้องขออนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของเอกสารและต้องได้รับอนุญาตจากทางหอจดหมายเหตุด้วย